วันอังคารที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ใบงานการเขียนย่อความ (ปาฐกถา)

ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง การวางรากฐานพลังงานไทยเพื่ออนาคต
โดย ดร. ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม
บทคัดย่อคำกล่าวปาฐกถาพิเศษซึ่งได้กล่าวไว้ในการสัมมนาประจำปี 2554 ของมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมว่า การกำหนดนโยบายพลังงานที่ถูกต้องควรมองในระยะยาว โดยต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม สิ่งที่ควรทำ คือ วางกรอบนโยบายพลังงานให้ครอบคลุมทุกด้านทั้งในระยะสั้นและระยาว แล้วจึงหาวิธีการจัดสรรให้เหมาะสม เป็นธรรม และโปร่งใสมากที่สุด  โดยแบ่งเป็น 7 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้
           1.  ภาคเอกชน   ปัจจุบันภาคเอกชนมีศักยภาพมากขึ้นในกิจการด้านพลังงาน เช่น การขุดเจาะน้ำมัน การพัฒนาสร้างโรงไฟฟ้า การประหยัดและการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งภาครัฐควรจะค่อย ๆ ลดบทบาทลง โดยทำหน้าที่กำหนดนโยบาย วางแผนด้านพลังงาน และกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการทุกรายได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นที่มาของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กฎหมายนี้มีประโยชน์หลายด้าน เพื่อให้เกิดการแข่งขันในกิจการพลังงานและสร้างความเป็นธรรม แต่เสียดายที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร ประเทศไทยอยู่ในระบบผูกขาดมานานมาก ปัจจุบันมีกฎหมายที่ทำให้เกิดการแข่งขันด้านพลังงานแล้ว และภาคเอกชนก็มีความพร้อมที่จะแข่งขัน ดังนั้น จึงควรกลับมาทบทวนกันใหม่ว่า การแข่งขันและบทบาทของภาคเอกชนด้านพลังงานจะทำอย่างไรต่อไป
           2.  ความโปร่งใสชัดเจนและความแน่นอนของนโยบายภาครัฐ  การไม่ชัดเจนของการกำหนดนโยบายของรัฐจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการลงทุนของผู้ประกอบการเอกชน (SPP, VSPP) โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎ ระเบียบของรัฐ  เช่น การเปลี่ยนนโยบายส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) การยกเลิกหรือลดอัตราเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯสำหรับน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ เป็นต้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงในระยะยาว ก็คือ ภาคเอกชนจะไม่เชื่อมั่น  เกิดความไม่มั่นใจ และจะไม่ให้ความร่วมมือกับนโยบายภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศที่การผลิตเชื้อเพลิงแก๊สชีวภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่ความไม่ชัดเจนของการกำหนดนโยบายจะทำลายความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในระยะยาว เพราะฉะนั้น หากจะยังคงให้ภาคเอกชนมีบทบาทด้านพลังงานมากขึ้น ความชัดเจนของนโยบายภาครัฐเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงเรื่องความโปร่งใส
           3.  นโยบายราคาพลังงาน  คือ หัวใจของการที่จะทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ การบิดเบือนราคา ทำให้คนเลือกใช้เชื้อเพลิงผิดประเภท ในอดีตประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดี การยกเลิกการควบคุมราคาน้ำมัน โดยให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การบิดเบือนราคาน้ำมัน การอุดหนุนหรือตรึงราคาน้ำมันด้วยเหตุผลทางการเมือง จะทำให้เกิดการใช้น้ำมันอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงภาระหนี้สินของกองทุนน้ำมัน จากข้อมูลรายงานประจำปีของ International Energy Agency (IEA) ปี 2553 ระบุว่า หากจะแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน มาตรการที่จำเป็น คือ ต้องยกเลิกการชดเชยราคาพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาการชดเชยราคาน้ำมันที่บอกว่าเพียงชั่วคราวกลายเป็นไม่ชั่วคราว เพราะการยกเลิกการอุดหนุนเป็นไปค่อนข้างยาก เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ขอฝากไว้ที่ผู้กำหนดนโยบาย เพราะภาระการอุดหนุนราคาน้ำมันก็จะกลับมายังประชาชนในที่สุด  ในปัจจุบันมีเครื่องมือ/กลไกในการบริหารราคาน้ำมันแทนการตรึงราคาหรือกำหนดเพดานราคาขายปลีกราคาน้ำมันที่สามารถดำเนินการได้ แต่ยังไม่ได้มีการเริ่มทำ เช่น การทำบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมัน(Hedging) ซึ่งหากต้องการให้ราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ ก็ทำประกันความเสี่ยงไว้ที่ระดับนั้น ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดเพดานราคาน้ำมันได้ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยใช้วิธี Hedging ร่วมกับกองทุนน้ำมันฯ
          4.  การกระจายแหล่งพลังงานและการจัดหาแหล่งพลังงานในระยะยาว  ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP)เดิม จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลายๆ ประเทศหวังว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะช่วยลดปัญหาสภาวะโลกร้อน หากไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50%ในปี 2050 แต่ปัจจุบันการผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจเป็นไปได้ยากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นรั่วไหลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ  จึงต้องหันไปจัดหาพลังงานอื่น เช่น ก๊าซ LNG หรือพลังงานหมุนเวียน ซึ่งต้นทุนยังคงสูงกว่าราคาเชื้อเพลิงฟอสซิล จึงจำเป็นต้องได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ
           5.  การประหยัดพลังงาน  เป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยลดการจัดหาพลังงานเพิ่มเติม แต่ภาครัฐยังให้ความสนใจไม่มากเท่าที่ควร การจูงใจให้ผู้ใช้พลังงานจำนวนหลายล้านคนทำตามสิ่งที่รัฐแนะนำเป็นเรื่องยากเมื่อเทียบกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 1,000 – 2,000 เมกกะวัตต์ ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ เช่น โครงการเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำ  โครงการ ESCO FUND เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการได้ค่อนข้างดี สร้างความเชื่อมั่น แต่ยังมีอีกหลาย ๆ เรื่อง ที่ผู้ใช้พลังงานยังไม่ทราบข้อมูล โดยที่ความเป็นไปได้ที่จะสามารถลดการใช้พลังงานประเภทต่าง ๆ ลงได้อีก
           6.  การพัฒนาพลังงานในพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้  ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจที่ มพส. ดำเนินการอยู่ โดยที่ผ่านมาภาครัฐและเอกชนมักมุ่งเน้นโครงการขนาดใหญ่ที่มีประชากรอยู่หนาแน่นและอยู่ใกล้สายส่ง แต่ในท้องถิ่นห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ยังมีหลายพื้นที่มีแหล่งพลังงานสามารถนำมาใช้ได้ นี่คือ จุดสำคัญที่สามารถทำอะไรได้อีกมาก การพัฒนาโครงการขนาดเล็ก 3 -20 กิโลวัตต์ ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์ ลดการตัดไม้ทำลายป่า และลดการใช้น้ำมัน และหากยังดำเนินการต่อเนื่อง หากคิดในแง่กำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้อาจจะไม่มาก แต่หาก มพส. ดำเนินการต่อเนื่องไป 5 ปีข้างหน้า  โดยพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดจิ๋ว 10 กิโลวัตต์ รวม 100 โครงการ รวมได้ 1 เมกะวัตต์  ซึ่งก็ถือว่า มีความสำคัญที่ไม่สามารถละเลยได้ เพราะเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้หรือต้องใช้พลังงานอื่นในการผลิตไฟฟ้าในราคาสูงมาก
           7.  ภาวะโลกร้อน  เป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าไกลตัว ไม่เหมือนการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้า แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการหลายอย่างที่ประเทศต่างๆ กำหนดขึ้นมา มีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การกำหนดนโยบายของไทย หนีไม่พ้นที่จะต้องคำนึงถึงภาวะโลกร้อน  เป็นที่ทราบกันดี นโยบายแรกที่มีผลออกมาแล้ว ซึ่งมีผลกระทบต่อธุรกิจของประเทศไทย คือ EU Emission Trading System ซึ่งกำหนดให้เครื่องบินที่บินเข้าออกสหภาพยุโรปต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกินอัตราที่กำหนดตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป ถ้าเกินต้องไปซื้อ Certified Emission Reductions (CERs) ซึ่งโดยหลักการแล้วเป็นเรื่องดี แต่กติกาที่ออกมามีความไม่เป็นธรรม จึงเป็นบทเรียนของผู้กำหนดนโยบายของประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญและติดตามการออกนโยบายของประเทศต่างๆ ในเรื่องการกำหนดมาตรการเรื่องภาวะโลกร้อน และมีอีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ คือ ที่ผ่านมามีโครงการที่ผ่านการพิจารณาขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) ไปแล้วจำนวน 60 โครงการ เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซ CO2 8.8 ล้านตัน/ปี ซึ่งเมื่อนับจากการตั้ง TGO มาแล้ว 5 ปี มีโครงการที่ผ่านการรับรองจาก EB  เพียง 6 โครงการ ทำให้การบินไทยต้องไปซื้อ CERs จากประเทศจีนและอินเดีย บทเรียน คือ จะมีนโยบายต่างๆ ในเรื่องนี้ออกมาอีก ซึ่งจะกระทบธุรกิจอื่นๆ ต่อไป ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ถ้าปล่อยให้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกำหนดเอง ก็จะมีนโยบายแปลกๆ ออกมา และเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพราะหากมีการกำหนดนโยบายออกมาแล้ว การจะแก้ไขทำได้ยากมาก

28 กันยายน 2554

1 ความคิดเห็น:

ใบงาน เรื่องข้อคิดจากบทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูก

  https://drive.google.com/drive/u/2/folders/1G8S5j-4o4-3CVj9jqDfdJGDDWVxZeAVQ